หลักการและเหตุผล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองในฐานะเป็นแหล่งวิชาการของรัฐและมีศักยภาพเพียงพอที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาประชากรของประเทศเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงพันธกิจหลักของสถาบัน 4 ด้าน ได้แก่ การสอน การวิจัย การบริหารวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชการที่ 9 ที่พระราชทานใว้ว่า “การรักษาศิลปวัฒนธรรมคือการรักษาชาติ” มาบูรณาการพัฒนาในการผลิตบัณฑิตอย่างต่อเนื่อง สืบจากแนวพระราชปณิธานเดิมขององค์พระผู้สถาปนามหาวิทยาลัย จึงได้สนับสนุนส่งเสริมหลักสูตรในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาทางด้านภาษาไทย ศิลปะไทย ดนตรีไทย และนาฏยศิลป์ไทย ของคณะอักษรศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มีความเป็นเลิศในสมรรถนะด้านทักษะ ทฤษฎี ตลอดจนความสามารถในการสร้างผลงานวิจัย ผลงานสร้างสรรค์และผลงานวิชาการรับใช้สังคม ให้บังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมายทั้งในระดับชาติ นานาชาติ ตลอดจนระยะกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนส่งเสริมทุกหลักสูตรผ่านรูปแบบเฉพาะและหลากหลาย เช่น ในระดับปริญญาตรี ได้จัดตั้งโครงการรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษระดับชาติทางศิลปะเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยวิธีพิเศษของสำนักบริหารกิจการนิสิต โครงการยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นเลิศด้านศิลปะไทยของสำนักบริหารวิชาการ และในระดับบัณฑิตศึกษาได้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษาและผลงานบทความวิจัย/วิชาการจากวิทยานิพนธ์ทั้งปริญญาโท/เอกด้านความเป็นไทยในฐานข้อมูลมาตรฐาน ที่สำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษายอมรับ ของบัณฑิตวิทยาลัย
ปัจจุบัน บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหลักสูตรดังกล่าว ได้สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นทั้งนักวิชาชีพและนักวิชาการมีผลงานเชิงประจักษ์อย่างต่อเนื่องในระดับชาติ นานาชาติมากมาย รวมทั้งเป็นครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาจำนวนมาก จากผลลัพธ์ข้างต้น ทางสำนักบริหารวิชาการและสำนักบริหารกิจการนิสิตจึงได้พัฒนาโครงการเฉพาะทั้ง 2 สำนักฯบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อโอกาสของนิสิตและการพัฒนาศักยภาพที่ต่อเนื่องและแข็งแกร่งยั่งยืนต่อไป สำหรับนิสิตที่เรียนในหลักสูตรด้านศิลปวัฒนธรรมไทย โดยที่ในปีการศึกษา 2562 ภาคเรียนที่ 1 จะจัดตั้งและดำเนินการ “โครงการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะนิสิตทางด้านดนตรี และศิลปะระดับชาติ นานาชาติ” ต่อไปสำหรับศตวรรษที่ 2 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป้าหมายของโครงการฯ
- เพื่อสนับสนุนให้นิสิตในโครงการส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะนิสิตทางด้านศิลปะระดับชาติ นานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการผลิตผลงานวิชาการทางด้านภาษาไทย ศิลปะไทย ดนตรีไทย อย่างต่อเนื่อง
- เปิดโอกาสให้นักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษระดับชาติทางศิลปะซึ่งมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง และมีความประพฤติเรียบร้อย เป็นกำลังสำคัญของชาติในปัจจุบันและจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชาติในอนาคตได้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ส่งเสริมให้นิสิตของโครงการฯ ได้มีการพัฒนาขีดความสามารถด้านศิลปะที่มีอยู่ให้สูงขึ้น และพร้อมที่จะทำงานรับใช้ชาติ เป็นกำลังสำคัญของชาติในการทำนุบำรุงและพัฒนางานด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาติต่อไปในอนาคต
- เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ได้สนใจและศึกษางานด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาติให้มากขึ้น โดยมีนิสิตโครงการฯ เป็นตัวกระตุ้น
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตโครงการฯ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีบุคลิกภาพดี มีสุขภาพอนามัย ที่สมบูรณ์ มีระเบียบวินัย เป็นตัวอย่างที่ดีของนิสิตและเยาวชนโดยทั่วไป
ภารกิจหลักของนิสิตโครงการฯ
- จะต้องมีความมุ่งมั่น ขยัน เสียสละ และรับผิดชอบในการที่จะพัฒนาขีดความสามารถด้านศิลปะ ที่ตนถนัด และสร้างผลงานด้านศิลปะของตนออกมาอย่างต่อเนื่อง
- จะต้องพร้อมที่จะรับใช้และเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยและของประเทศชาติในการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ให้ปรากฏและแพร่หลายไปในระดับชาติและนานาชาติ
- จะต้องตั้งใจศึกษาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ในแบบการศึกษาที่โครงการฯ เป็นผู้กำหนด
- จะต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นิสิตและเยาวชนทั่วไป
- จะต้องประพฤติปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบ และคำสั่งของมหาวิทยาลัยทุกประการ
ผลงานนิสิตโครงการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะนิสิตทางศิลปะระดับชาติ นานาชาติ
โครงการเรียนดนตรีวิธีศิลปากร Silpakorn Summer Music School (SSMS) ครั้งที่ 16