นิสิตจุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศและรางวัลชมเชย การประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นตัวแทนประจำภูมิภาค กรุงเทพมหานคร ชิงชนะเลิศระดับประเทศ

เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องสัมมนา ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ (อาคาร 12) มหาวิทยาลัยสยาม สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จัดการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2563 ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รอบคัดเลือกประจำภูมิภาค กรุงเทพมหานคร
หัวข้อ “ใช้ความรู้ให้ถูกทาง สร้างคนสร้างชาติให้เจริญ” โดยมี ผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ และ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการประกวดสุนทรพจน์ มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมการประกวด จำนวน 13 คน จาก 8 สถาบัน และผ่านการคัดเลือกได้แสดงสุนทรพจน์รอบฉับพลัน ในหัวข้อ “สุขด้วยการแบ่งปัน ดีกว่าแข่งขันกันร่ำรวย” จำนวน 11 คน
การจัดการประกวดดำเนินการภายใต้มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ผลการประกวดมีดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ นายณัฐวุฒิ จันทะลุน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รองชนะเลิศ นางสาวตรีทิพย์นิภา สรณพานิชกุล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- รางวัลชมเชย
- นายชยุตม์ มุทุวงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นักเรียนนายเรืออากาศสดุดี สุทธิ์เสงี่ยม โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
- นายอัครพันธ์ ทวีศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- นักเรียนนายเรืออากาศณัฐกฤษฎิ์ สราทธพันธ์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช

นายณัฐวุฒิ จันทะลุน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศ

นายชยุตม์ มุทุวงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชมเชย
เป็นตัวแทนเข้าประกวดรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
ผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ กล่าวว่า จัดการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติฯ ถวายงานผ่านภาษา “ตามรอยพระยุคลบาท ช่วยชาติได้อย่างไร” นับเป็นเวทีส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้มีการแสดงออกในด้านศิลปะการใช้ภาษาไทย ด้วยการแสดงสุนทรพจน์อย่างถูกต้อง เหมาะสมและสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อปลูกฝังคุณค่าไทยนิยมและการชื่นชมความเป็นไทยด้วยการค้นคว้าให้เข้าใจในพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเพื่อรณรงค์ให้นิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษามีโอกาสศึกษาเรียนรู้ และน้อมนำพระราชกรณียกิจพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
