ชั้น 2 อาคาร จุลจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์: 02-218-7052 โทรสาร: 02-218-7053

สองนิสิตจุฬาฯ เยาวชนต้นแบบด้านดนตรีไทย ประจำปี 2563

ดนตรีไทยเป็นศิลปะอันทรงคุณค่าที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ทั้งชาติ ปัจจุบันมีเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่สนใจดนตรีไทย พร้อมทำหน้าที่สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยไม่ให้สูญหายไปกับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก พณฤทธิ์ โกมลสิงห์ และปฏิพล แซ่ลี้ สองนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาดนตรีศึกษา เป็นแบบอย่างของเยาวชนที่รักษ์ดนตรีไทย ทั้งคู่ได้รับรางวัลเยาวชนต้นแบบด้านดนตรีไทย ประจำปี 2563 ระดับชมเชย จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

พณฤทธิ์ โกมลสิงห์ เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็กจากการที่คุณปู่และคุณพ่อเป็นนักดนตรีไทย พณฤทธิ์มีความสามารถในการเล่นระนาดเอก และเล่นเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด ก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีไทย “ประลองเพลง ประเลงมโหรี” มาแล้ว

พณฤทธิ์กล่าวว่า “การเล่นดนตรีไทยทำให้เขาได้ใช้ฝีมือและความสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา รู้สึกตื่นเต้นทุกๆครั้งที่ได้เล่นดนตรีไทย อยากให้ทุกคนลองเปิดใจมาเรียนดนตรีไทยกันมากขึ้น” สำหรับเทคนิคการเล่นดนตรีไทยให้ประสบความสำเร็จนั้น พณฤทธิ์ยึดหลัก 4 ข้อ คือ 1.เรียนรู้ 2.ฝึกฝน  3.อดทน 4.พัฒนา ดนตรีไทยแตกต่างจากดนตรีสากลตรงที่ค่อนข้างเข้าถึงยากกว่า ต้องค่อยๆ ฝึกฝนเรียนรู้ไปเรื่อยๆ และต้องใช้ความอดทนสูง บางครั้งต้องผ่านการเล่นดนตรีไทยเป็นร้อยเป็นพันครั้งเพื่อที่จะออกมาแสดงเพียงครั้งเดียว

ปฏิพล แซ่ลี้ เยาวชนต้นแบบด้านดนตรีไทยอีกคนหนึ่ง  เครื่องดนตรีที่เล่นเป็นหลักคือซอสามสาย เกียรติประวัติที่ผ่านมาเคยได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดทางด้านดนตรีไทยมาแล้วมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศซอสามสาย ประเภทมโหรี จัดโดยศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ รางวัลชนะเลิศซอด้วงการประกวดบรรเลงดนตรีไทย “ศรทอง” ของมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ฯลฯ

ปฏิพลเล่าว่า “สนใจดนตรีไทยตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งมีหลักสูตรอนุรักษ์ความเป็นไทย  และเรียนดนตรีไทยด้วย พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกชอบและหลงใหลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เทคนิคการเล่นดนตรีไทยให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการฝึกซ้อมเป็นประจำ เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านดนตรีไทยอยู่เสมอ  นอกจากจะขยันซ้อมแล้ว ลองหาต้นแบบที่เราสามารถดูเป็นตัวอย่างได้ ต้นแบบครูดนตรีไทยของผมคือคุณครูสมัยมัธยมหรือสมัยประถม ซึ่งทุกวันนี้ยังคงระลึกถึงและเรียนรู้การเล่นดนตรีไทยจากท่านอยู่เหมือนเดิม”

“อยากให้คนรุ่นใหม่สนใจดนตรีไทย นิยมฟังดนตรีไทยให้มากขึ้น” ปฏิพล กล่าวทิ้งท้าย