ความเป็นมาและผลการดำเนินงานโครงการ
สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2528 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13 และในครั้งนั้นประเทศไทยได้รับเหรียญทองมากที่สุดในจำนวนประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งได้นำความภาคภูมิใจและความยินดีมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยทั่วหน้ากัน
ในการแข่งขันกีฬาดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบุคลากรอันประกอบด้วย อาจารย์ ข้าราชการและนิสิตมีส่วนเกี่ยวข้องในการแข่งขันด้วย ดังนั้นอธิการบดีในสมัยนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร. เกษม สุวรรณกุล จึงได้เห็นชอบและมีนโยบายให้การสนับสนุนการกีฬาของชาติ โดยตระหนักว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งวิชาการและมีศักยภาพเพียงพอในด้านการศึกษา จึงได้เสนอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติจัดตั้ง โครงการพัฒนากีฬาชาติขึ้น
เพื่อสนองรับสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลซึ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาของชาติ อันเป็นหลักการและพื้นฐานในการพัฒนาประชากรของประเทศให้มีคุณภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ 456 อนุมัติจัดตั้งโครงการพัฒนากีฬาชาติ โดยให้ตราระเบียบว่าด้วยการรับนักเรียนผู้มีความสามารถดีเด่นระดับชาติในทางกีฬาเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยวิธีพิเศษ พ.ศ. 2530
โครงการพัฒนากีฬาชาติจึงได้กำเนิดขึ้นและเริ่มดำเนินการรับนิสิตเข้าศึกษาในรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2529 (พ.ศ. 2530) เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมีนโยบายดำเนินการรับผู้มีความสามารถพิเศษต่าง ๆ เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยวิธีพิเศษอีกหลาย ๆ โครงการซึ่งมหาวิทยาลัยเห็นว่าควรกำหนดแนวทางมาตรฐานการดำเนินงานรับเข้าศึกษาโดยวิธีพิเศษ ในปี พ.ศ. 2547 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 650 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2547 จึงได้มีการตราระเบียบโดยรวมขึ้นใหม่ คือ “ระเบียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย การรับนักเรียนเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยวิธีพิเศษ พ.ศ. 2547” ซึ่งมีผลให้ยกเลิกระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการรับนักเรียนผู้มีความสามารถดีเด่นระดับชาติในทางกีฬาเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวิธีพิเศษ พ.ศ. 2530 และมีผลให้โครงสร้างการดำเนินงานโครงการปรับเปลี่ยนไป
ต่อมาในปี 2551 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และในการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโดยวิธีรับตรง ซึ่งได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 705 (สัญจร) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2551 ได้อนุมัติให้มี “ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย การรับนักเรียนเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยวิธีรับตรง พ.ศ. 2551” ซึ่งโครงการได้ดำเนินงานการรับนักเรียนเข้าศึกษาให้เป็นตามข้อบังคับดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันนี้
เป้าหมายของโครงการฯ
- เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษระดับชาติทางกีฬาซึ่งมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง และมีความประพฤติเรียบร้อย เป็นกำลังสำคัญของชาติในปัจจุบันและจะเป็นกำลังของชาติในอนาคต ได้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ส่งเสริมให้นิสิตของโครงการฯ มีการพัฒนาขีดความสามารถด้านกีฬาให้สูงขึ้นและพร้อมที่รับใช้ชาติ
- เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่นและสนใจในการกีฬาอย่างทั่วถึง
- เพื่อส่งเสริมให้นิสิตของโครงการฯ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีบุคลิกภาพดี มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ มีระเบียบวินัยและมีน้ำใจเป็นนักกีฬา สามารถเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการกีฬากับประชากรของประเทศได้
ภารกิจหลักของนิสิตโครงการฯ
- จะต้องมีความมุ่งมั่น ขยัน เสียสละและรับผิดชอบในอันที่จะฝึกซ้อมกีฬาที่ตนถนัด เพื่อเพิ่มพูนและพัฒนาความสามารถของตนเองให้สูงขึ้น
- จะต้องรับใช้และเป็นตัวแทนเพื่อทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติและมหาวิทยาลัย
- จะต้องตั้งใจศึกษาตามหลักสูตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแผนการศึกษาที่โครงการพัฒนา กีฬาชาติกำหนด
- จะต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการกีฬาแก่นิสิตอื่น ๆ
- จะต้องประพฤติปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบ และคำสั่งของมหาวิทยาลัยทุกประการ