ชั้น 2 อาคาร จุลจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์: 02-218-7052 โทรสาร: 02-218-7053

โครงการพัฒนากีฬาฟุตบอล

ลักษณะโครงการ

          โครงการพัฒนากีฬาฟุตบอล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นโครงการที่คัดเลือกนักเรียนผู้มีความสามารถเป็นเลิศด้านกีฬาฟุตบอลระดับชาติโดยวิธีพิเศษในหลักสูตรการศึกษาปริญญาบัณฑิตในคณะต่าง ๆ ดังนี้ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะครุศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ เพื่อพัฒนานักกีฬาฟุตบอลเหล่านี้ให้มีทักษะและความสามารถสูงสุดตามศักยภาพของแต่ละบุคคลและสามารถเล่นฟุตบอลเป็นทีมที่ดีได้  ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็สามารถพัฒนาให้นักกีฬาเหล่านี้สามารถเรียนจบตามเกณฑ์ของทางมหาวิทยาลัยได้

หลักการและเหตุผล

          พลานามัยสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นตัวจักรสำคัญในการหมุนฟันเฟืองทางสังคมให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์  การส่งเสริมด้านการกีฬาของประเทศจึงถูกจัดเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็ง  มีประชากรที่มีพลานามัยสมบูรณ์ไม่มั่วสุมในอบายมุขและยาเสพติด การส่งเสริมด้านการกีฬาอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ กีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อสุขภาพพลานามัย ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ประชากรจะนิยมเล่นกีฬา มีพลานามัยสมบูรณ์ได้นั้น สังคมจะต้องมีนักกีฬาที่มีความสามารถดึงดูดประชาชนให้สนใจติดตามและปลุกกระแสความนิยมทางด้านกีฬาอย่างต่อเนื่อง กีฬาฟุตบอลถูกจัดเป็นกีฬาที่สามารถสร้างกระแสความนิยมได้อย่างกว้างขวางโดยที่ทีมกีฬาฟุตบอลที่ดีจะกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจเล่นและฝึกซ้อมกีฬาตามอย่างวีรบุรุษกีฬาของแต่ละคนได้เป็นจำนวนมาก

          นอกจากนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า  ความเป็นเลิศทางกีฬาและศิลปะของสถาบันการศึกษาเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญประการหนึ่งของระดับความสำเร็จในความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการและเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้มีโครงการพัฒนากีฬาชาติเป็นแห่งแรกของประเทศและได้ดำเนินการติดต่อมาเป็นระยะเวลา 17 ปีแล้ว ซึ่งนับว่าได้ดำเนินการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังไม่สามารถดำเนินการพัฒนากีฬาที่เล่นเป็นทีมโดยเฉพาะทีมฟุตบอลให้มีความเป็นเลิศและเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการแข่งขันหรือดำเนินกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและ    การแข่งขันฟุตบอลประเพณีในโอกาสต่าง ๆ ได้ ในปัจจุบันสังคมตื่นตัวในเรื่องกีฬามากโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลประกอบกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้พัฒนาความพร้อมทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา สูงขึ้นมาก

          จึงเป็นการสมควรให้จัดทำโครงการพัฒนากีฬาอย่างจริงจังและเป็นระบบโดยเฉพาะกีฬาที่  ต้องเล่นเป็นทีมเป็นการพิเศษเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและชื่อเสียงเกียรติภูมิทางด้านกีฬาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ไปสู่ความเป็นเลิศและสร้างความตื่นตัวทางด้านการกีฬาเพื่อพลานามัยของมหาวิทยาลัย  ในอนาคตให้ได้โดยใช้กีฬาฟุตบอลเป็นโครงการนำร่อง

วัตถุประสงค์โครงการ

(1)   เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคนิคการฝึกซ้อมนักกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีมให้มีทักษะและความสามารถ เต็มตามศักยภาพของนักกีฬา โดยในชั้นต้นจะใช้กีฬาฟุตบอลเป็นโครงการนำร่อง

(2)   เพื่อพัฒนามาตรฐานกีฬาฟุตบอลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มีความเป็นเลิศ และมีทีมฟุตบอลชั้นนำในระดับสถาบันอุดมศึกษาและระดับนานาชาติ

(3)   เพื่อเสริมสร้างเกียรติภูมิจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นที่ภาคภูมิใจของนิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และของประเทศชาติ

จำนวนนักกีฬาฟุตบอล

          นักกีฬาฟุตบอลมีจำนวนในแต่ละคณะไม่เกิน 30 คน โดยมีการรับนิสิตที่ศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยปกติอยู่แล้วทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาเข้าโครงการเพื่อทดแทนจำนวนนักกีฬาที่ขาดแคลนในตำแหน่งต่าง ๆ หรือที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีการศึกษาการสร้างทีมฟุตบอลควรมีการกระจายของนิสิตในแต่ละชั้นปีการศึกษาเพื่อลดผลกระทบจากการสำเร็จการศึกษาในคราวเดียวกัน

เป้าหมาย

          เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านกีฬาฟุตบอลของมหาวิทยาลัย  โดยผลที่ได้จะก่อให้เกิดกระแสความนิยมด้านกีฬาฟุตบอลของมหาวิทยาลัย  และมีนิสิตสนใจเล่นกีฬากันมากขึ้น

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

(1)  มีเทคนิคการพัฒนานักกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันจะทำให้สามารถขยายไปสู่การพัฒนากีฬาประเภทอื่นได้ด้วย

(2)  เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีในความเป็นเลิศทางกีฬาฟุตบอลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(3)  ความศรัทธาและความร่วมมือจากนิสิตเก่าและองค์กรอื่นๆ ในการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในกิจการกีฬาและกิจการอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย

 โครงการที่มีลักษณะการดำเนินการคล้ายคลึงกัน

(1)  โครงการพัฒนากีฬาชาติ

(2)  โครงการศิลปะดีเด่น

(3)  โครงการจุฬาฯ-ชนบท

(4)  โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์

หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ

          สำนักบริหารกิจการนิสิต  โดยความร่วมมือและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิชาที่เกี่ยวข้องและสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย